ขอบคุณภาพจาก : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ประวัติความเป็นมาและเหตุการณ์สำคัญ
นครสวรรค์ เป็นเมืองโบราณซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยมีปรากฏชื่อในศิลาจารึกเรียกว่า เมืองพระบาง เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการทำศึกสงครามมาทุกสมัย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงธนบุรีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวเมืองดั้งเดิมตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาขาด(เขาฤาษี) จรดวัดหัวเมือง(วัดนครสวรรค์) ยังมีเชิงเทินดินเป็นแนวปรากฏอยู่ เมืองพระบาง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองชอนตะวัน เพราะตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และหันหน้าเมืองไปทางแม่น้ำซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกทำให้แสงอาทิตย์ส่องเข้าหน้าเมืองตลอดเวลาแต่ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นชื่อ เมืองนครสวรรค์ เพื่อเป็นศุภนิมิตอันดี
นครสวรรค์ มีชื่อเรียกเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาแต่เดิมว่า ปากน้ำโพ โดยปรากฏเรียกกันมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามประวัติศาสตร์ในคราวที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กองทัพเรือจากกรุงศรีอยุธยาได้ยกไปรับทัพข้าศึกที่ปากน้ำโพ แต่ต้านทัพข้าศึกไม่ไหวจึงล่าถอยกลับไป
ที่มาของคำว่า ปากน้ำโพ สันนิษฐานได้ 2 ประการคือ อาจมาจากคำว่า ปากน้ำโผล่ เพราะเป็นที่ปากน้ำปิง ยม และน่าน มาโผล่รวมกันเป็น ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา หรืออีกประการหนึ่ง คือมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อยู่ตรงปากน้ำในบริเวณวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อกวนอูในปัจจุบัน จึงเรียกกันว่า ปากน้ำโพธิ์ ก็อาจเป็นได้
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงนำพระพุทธรูปชื่อ พระบาง ไปคืนให้เมืองเวียงจันทร์แต่ติดศึกพม่าต้องเอาพระพุทธรูป พระบางมาค้างไว้ที่เมืองนี้ ต่อมาไทยรบทัพจับศึกกับพม่าและปราบหัวเมืองฝ่ายเหนือที่แข็งเมืองยกมาตีกรุงศรีอยุธยา และตอนต้นกรุงเทพฯ กองทัพไทยได้ยกเคลื่อนที่ขึ้นมาเลือกนครสวรรค์ (ที่เคยเป็นโรงทหารเก่าหลังโรงเหล้าปัจจุบัน) เป็นที่ตั้งทัพหลวงแล้วดัดแปลงขุดคูประตูหอรบ จากตะวันตกตลาดสะพานดำไปบ้านสันคูไปถึงทุ่งสันคู เดี๋ยวนี้ยังปรากฏแนวคูอยู่ เมื่อข้าศึกยกลงมาจากทุ่งหนองเบน หนองสังข์ สลกบาตร และตะวันออกเฉียงใต้ของลาดยาวมาเหนือทุ่งสันคู เมื่อฤดูแล้งเป็นที่ดอนขาดน้ำ ถ้าฝนตกน้ำก็หลากเข้ามาอย่างแรงท่วมข้าศึกไทยยกทัพตีตลบหลัง พม่าวิ่งหนีผ่านช่องเขานี้จึงได้ชื่อว่า เขาช่องขาดมาจนบัดนี้
เนื่องจากเมืองนครสวรรค์เป็นหัวเมืองชั้นตรีซึ่งปรากฏอยู่ตามกฎหมายเก่าในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ ราว พ.ศ. 2100 ว่าด้วยเรื่องดวงตราประทับหนังสือที่ให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงใช้ในราชการ ดังนั้น เมืองนครสวรรค์ จึงมิได้มีบทบาทที่ถูกกล่าวถึงไว้ในประวัติศาสตร์สำคัญของไทยเท่าใดนัก
จังหวัดนครสวรรค์ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง หรือภาคกลางตอนบน ห่างจากกรุงเทพฯ มาทางทิศเหนือ 237 กิโลเมตร โดยทางรถยนต์สายเอเซียและ 250 กิโลเมตร โดยทางรถไฟ มีเนื้อที่ 9,597.677 ตารางกิโลเมตรหรือ 5,998,548 ไร่ อาณาเขตติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดพิจิตร, กำแพงเพชร
ทิศใต้ ติดต่อกับ จังหวัดลพบุรี, อุทัยธานี, ชัยนาท และสิงห์บุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จังหวัดเพชรบูรณ์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จังหวัดตาก
จังหวัดนครสวรรค์มีพื้นที่ประมาณ9,597,677 ตารางกิโลเมตร หรือ5,998,548 ไร่ แบ่งเขตการปกครองเป็น13 อำเภอ กับ2 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอเก้าเลี้ย อำเภอโกรกพระ อำเภอชุมแสง อำเภอตากฟ้า อำเภอตาคลี อำเภอท่าตะโก อำเภอบรรพตพิสัย อำเภอพยุหะคีรี อำเภอไพศาลี อำเภอลาดยาว อำเภอหนองบัว อำเภอแม่วงศ์ กิ่งอำเภอชุมตาบง และกิ่งอำเภอแม่เปิน เปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย นครสวรรค์เป็นจังหวัดขนาดกลาง