วัดเก่าแก่โบราณอายุกว่า 200 ปีที่ตั้งอยู่กลางชุมชนชาวมอญที่มีมาตั้งแต่พ.ศ.2336 แห่งนี้ เต็มไปด้วยความน่าสนใจมากมาย ตั้งแต่พระวิหารที่สร้างขึ้นตามศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายต่อรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในนั้นงดงามด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปเทพชุมนุมหลายองค์ที่วาดต่อเนื่องกันตามแบบงานจิตรกรรมสมัยอยุธยา นอกจากนี้ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองซึ่งปรากฏอยู่บนฝาผนัง จิตรกรรมไทยบนสมุดข่อยภาษามอญที่มีภาพประกอบ และการลงรักปิดทองสวยงามมาก ทั้งนี้ มีเรื่องเล่าว่า ในการเสด็จประพาสต้นทางเหนือของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ ผ่านมาถึงวัดบ้านเกาะหรือวัดเกาะหงษ์แห่งนี้ พระองค์ทอดพระเนตรพระสังกัจจายน์ยืนมือกุมท้องภายในวิหาร ทรงพอพระทัยเป็นอันมากจึงขอเชิญพระสังกัจจายน์องค์นี้ไป แล้วพระราชทานทรัพย์จำนวน 1 ชั่ว (80 บาท) เพื่อให้จัดสร้างขึ้นใหม่แทนองค์เดิม ซึ่งก็คือองค์ที่เห็นในปัจจุบัน นอกจากนี้เมื่อมาถึงวัดเกาะหงษ์แล้ว ทุกคนต้องได้รู้จัก “การเหยียบฉ่า” ซึ่งเป็นการรักษาโรคด้วยวิธีโบราณและสร้างชื่อเสียงให้กับวัดโดยเป็นการรักษาที่หมอจะนำเท้าจุ่มสมุนไพรแล้วนำไปเหยียบแผ่นเหล็กที่เผาไฟจนร้อนจัด ขณะเหยียบเหล็กจะเกิดเปลวไฟลุกท่วมเท้าเสียงดัง “ฉ่า” จากนั้นก็ใช้เท้าที่เหยียบแผ่นเหล็กร้อนๆ นั้นมาเหยียบตรงบริเวณที่มีอาการเจ็บป่วยของผู้เข้ารับการรักษา นับเป็นความมหัศจรรย์ของภูมิปัญญาไทยสมัยโบราณ ซึ่งการเหยียบฉ่านี้มีการสืบทอดกันมากว่าร้อยปีเลยทีเดียว